อนาธิปไตยคืออะไร? – บทที่ 2: ระบบค่าแรง

คุณเคยหยุดถามคำถามนี้กับตัวเองบ้างไหม: ทำไมคุณถึงต้องเกิดมาจากพ่อกับแม่ของคุณ ไม่ใช่คนอื่น?

เอาล่ะ คุณน่าจะเข้าใจว่าผมกำลังจะพูดถึงอะไร ผมหมายความว่าความยินยอมของคุณไม่เคยถูกถามเลย คุณก็แค่เกิดมา ไม่มีโอกาสได้เลือกว่าจะเกิดที่ไหน หรือเกิดจากใคร มันเป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คุณเกิดมาไม่รวย บางทีพ่อแม่ของคุณเป็นชนชั้นกลาง หรือถ้าพูดให้ตรงกว่านั้น ก็อาจจะเป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน และนั่นทำให้คุณคือหนึ่งในคนนับล้าน มวลชนเหล่านั้น ผู้ที่ต้องทำงานเพื่อดำรงชีวิต

คนที่มีเงินหน่อยก็สามารถเอาเงินไปทำธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมได้ เขาเอาเงินไปลงทุนและใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยกำไร แต่คุณไม่มีเงินนี่นา คุณมีแค่ความสามารถในการทำงาน กำลังแรงงานของคุณ

มันเคยมีช่วงเวลาที่คนทุกคนทำงานเพื่อตัวของพวกเขาเอง มันไม่มีโรงงาน และอุตสาหกรรมก็ยังไม่ได้ใหญ่โตอะไร คนพวกนี้มีเครื่องมือและห้องทำงานเล็กๆ เป็นของตัวเอง และพวกเขาก็ซื้อวัตถุดิบที่เขาต้องการมาเอง เขาทำงานเพื่อตัวเอง พวกเขาถูกเรียกว่าช่างศิลป์ หรือช่างฝีมือ

จากนั้นโรงงานและห้องทำงานขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้น ทำให้ช่างฝีมือเหล่านั้นก็เริ่มเป็นอิสระน้อยลงเรื่อยๆ เพราะพวกเขาไม่สามารถแข่งขันกับโรงงานใหญ่ๆ ได้ เขาไม่สามารถผลิตสิ่งต่างๆ ให้มีราคาถูกได้เท่ากับที่โรงงานทำ ดังนั้นเหล่าช่างฝีมือพวกนี้ก็ต้องยอมแพ้แล้วเข้าไปทำงานในโรงงานเสีย

ในโรงงานขนาดใหญ่นั้น สิ่งต่างๆ ถูกผลิตออกมาในจำนวนมหาศาล การผลิตเป็นจำนวนเยอะๆ ที่ว่านี้ถูกเรียกว่า ลัทธิอุตสาหกรรม มันทำให้พวกนายจ้างและเจ้าของโรงงานร่ำรวยมาก ดังนั้นพวกที่ทรงอิทธิพลของวงการอุตสาหกรรมและการค้าก็ได้สะสมเงินตราและทุนเอาไว้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ระบบนี้ถูกเรียกว่า ทุนนิยม พวกเราล้วนแต่ดำรงอยู่ในระบบทุนนิยม

ในระบบทุนนิยมนั้น คนงานไม่สามารถทำงานเพื่อตัวเองเหมือนกับที่เคยทำในอดีต เขาไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ได้ ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนงาน คุณก็ต้องหาคนที่จะมาจ้างคุณ คุณทำงานให้เขา หมายความว่าคุณมอบแรงงานของคุณให้กับนายจ้างหลายๆ ชั่วโมงในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ และเขาก็จะจ่ายเงินให้คุณ คุณขายกำลังแรงงานของคุณ และเขาก็จ่ายค่าแรงกลับคืนมา

ในระบบทุนนิยม ชนชั้นแรงงานทั้งหมดล้วนแต่ขายกำลังแรงงานให้กันชนชั้นนายจ้าง พวกแรงงานสร้างโรงงาน สร้างเครื่องจักรและเครื่องมือ และผลิตสินค้าออกมา ส่วนพวกนายจ้างก็ครอบครองโรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ และสินค้าไว้กับตัวเองในฐานะกำไรของพวกเขา แรงงานได้รับเพียงค่าแรงเท่านั้น

ข้อตกลงที่ดำเนินไปเช่นนี้ถูกเรียกว่า ระบบค่าแรง

พวกมีการศึกษาได้ไขปัญหาว่าแท้จริงแล้วนั้น เหล่าแรงงานได้รับค่าแรงเป็นมูลค่าเพียง 1 ส่วน 10 จากมูลค่าของสินค้าที่พวกเขาผลิต อีก 9 ส่วน 10 นั้นถูกแบ่งกระจายไปสู่พวกเจ้าของที่ดิน เจ้าของโรงงาน บริษัทขนส่ง คนขายส่ง คนขายปลีก และคนกลางคนอื่นๆ

นั่นหมายความว่า:

แม้ว่าพวกคนงาน (ในฐานะชนชั้น) ได้สร้างโรงงานขึ้นมามากมาย แต่เสี้ยวของกำลังแรงงานที่พวกเขาลงแรงไปทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ได้ถูกพรากจากพวกเขา ไปสู่สิทธิ์ในการใช้โรงงานของพวกเจ้าของที่ดิน เพราะนั่นคือกำไรของคนพวกนี้

แม้ว่าพวกแรงงานจะผลิตเครื่องมือและเครื่องจักร อีกเสี้ยวหนึ่งของกำลังแรงงานของพวกเขาที่ลงแรงไปทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ก็ได้ถูกพรากจากพวกเขาไปสู่สิทธิ์ในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรเหล่านี้ของพวกเจ้าของการผลิต เพราะนั่นคือกำไรของคนพวกนี้

แม้ว่าพวกแรงงานจะสร้างทางรถไฟ อีกเสี้ยวหนึ่งของกำลังแรงงานของพวกเขาที่ลงแรงไปทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ก็ได้ถูกพรากจากพวกเขาไปสู่สิทธิ์ที่จะใช้เส้นทางเหล่านี้ในการขนส่งสินค้าที่พวกเขาผลิตขึ้น เพราะนั่นคือกำไรของเจ้าของสถานีรถไฟ

และอื่นๆ รวมถึงนายธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ในกับเจ้าของการผลิต พวกคนค้าส่ง คนค้าปลีก และคนกลางคนอื่นๆ คนพวกนี้ล้วนแต่พรากเสี้ยวหนึ่งของกำลังแรงงานของเหล่าคนงานที่ทำงานมาอย่างหนักไปทั้งสิ้น

สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ 1 ส่วน 10 ของมูลค่าของแรงงานของเหล่าคนงาน ที่กลายมาเป็นส่วนแบ่ง กลายมาเป็นค่าแรงของพวกเขา

คุณคงเดาออกแล้วล่ะว่าทำไมพรูดองถึงบอกว่า ทรัพย์สินของพวกคนรวยคือสิ่งที่ถูกขโมยมา ? มันถูกขโมยมาจากคนที่ผลิต เหล่าคนงาน

ดูแปลกดีไม่ใช่หรือ ว่าทำไมเรื่องพวกนี้ถึงเกิดขึ้นได้?

ใช่ มันแปลกเหลือเกิน และสิ่งที่แปลกที่สุดก็คือคนทั้งโลกก็รู้แต่ไม่มีใครทำอะไรกับมันเลย ที่แย่ไปกว่านั้นคือเหล่าคนงานก็ไม่ได้ทำอะไรเช่นกัน ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่าคนส่วนมากคิดว่าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว และระบบทุนนิยมที่ว่านี้ก็ดีอยู่แล้ว

เป็นเพราะว่าเหล่าคนงานไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา พวกเขาไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังถูกปล้นชิง ส่วนพวกที่เหลือก็เข้าใจเรื่องนี้เพียงเล็กน้อย และเมื่อมีใครสักคนที่พยายามบอกเรื่องนี้ออกมาให้คนอื่นๆ ได้ฟัง พวกเขาก็จะตะโกนใส่คนๆ นั้นว่า “ไอ้พวกอนาธิปไตย!” ทำให้คนๆ นั้นสงบปากสงบคำลง แล้วก็จับเขายัดเข้าคุกเสีย

แน่นอนว่าพวกนายทุนก็พึงพอใจอย่างมากกับระบบทุนนิยมของพวกเขา ทำไมถึงไม่ควรเป็นแบบนั้นเล่า? ทั้งที่พวกเขาร่ำรวยได้ก็เพราะระบบนี้ ดังนั้น อย่าหวังว่าพวกเขาจะบอกว่าระบบนี้มันไม่ดี

ส่วนพวกชนชั้นกลางก็สนับสนุนพวกนายทุน พวกเขาก็ใช้ชีวิตอยู่บนแรงงานของชนชั้นแรงงานนั่นแหละ แล้วพวกเขาจะคัดค้านไปเพื่ออะไรกัน? แน่นอนว่าคุณอาจจะพบเหล่าชายหญิงชนชั้นกลางบางคนได้ลุกขึ้นมาพูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แต่คนแบบนี้ก็จะโดนปิดปากเงียบ และโดนสบประมาทว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” เป็นพวกก่อกวนเสียสติ และพวกอนาธิปไตย

แต่คุณน่าจะคิดว่าเหล่าคนงานต่างหากที่ควรจะออกมาปฏิเสธทุนระบบนิยมก่อนเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากพวกเขาเป็นคนที่ถูกปล้นชิง และเป็นคนที่เจ็บปวดมากที่สุด

ใช่ ควรเป็นเช่นนั้น แต่กลับไม่ใช่ ซึ่งเป็นเรื่องแสนเศร้า

พวกเขารู้ว่ามีบางอย่างกำลังเอาเปรียบพวกเขาอยู่ รู้ว่าตนเองได้ทำงานอย่างหนักเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ และสิ่งตอบแทนที่เขาได้รับมามันก็เพียงพอสำหรับแค่นั้นจริงๆ หรือบางครั้งมันก็ไม่พอด้วยซ้ำไป พวกเขาเห็นว่าเหล่านายจ้างได้ขับรถยนต์แพงๆ และใช้ชีวิตอยู่ในความหรูหราเหลือประมาณ กับเมียของพวกเขาที่ได้ใส่เสื้อผ้าแพงๆ ประดับประดาร่างกายด้วยเพชรพลอย ในขณะที่เหล่าเมียของคนงานนั้นแทบจะไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าถูกๆ มาใส่ด้วยซ้ำ ดังนั้นเหล่าคนงานจึงหาทางที่จะพัฒนาชีวิตของตัวเอง ด้วยการพยายามให้ตัวเองได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น กรณีนี้มันก็เหมือนกับว่า ผมตื่นขึ้นมากลางดึกในบ้านของผม แล้วพบว่ามีขอทานคนหนึ่งได้ขโมยของในบ้านของผมไปหมด และกำลังจะหนีไปกับสิ่งของเหล่านั้น แทนที่ผมจะหยุดเขาไว้ กลับกลายเป็นผมพูดกับเขาว่า ‘ขอร้องล่ะครับคุณขอทาน อย่างน้อยทิ้งเสื้อผ้าไว้ให้ผมสักชุดก็ยังดี ผมจะได้มีอะไรใส่’ จากนั้นก็กล่าวคำขอบคุณถ้าเขาทิ้งสิ่งของจำนวน 1 ส่วน 10 จากที่เขาขโมยไปไว้ให้ผม

แต่ผมจะพูดถึงเรื่องราวของผมต่อ เราจะกลับไปที่เหล่าคนงานเพื่อดูว่าพวกเขาพยายามที่จะพัฒนาชีวิตของตัวเองอย่างไร และมันได้ผลน้อยนิดแค่ไหน ในตอนนี้ผมอยากบอกคุณว่า เหล่าคนงานไม่ได้กระทืบไอ้ขอทานคนนั้นแล้วเหวี่ยงมันออกจากบ้านไป นี่คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงร้องขอขนมปังหรือค่าแรงเพิ่มอีกนิดหน่อยก็ยังดี และเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เหวี่ยงพวกนายทุนออกไปให้พ้นเสียที

เป็นเพราะว่าเหล่าคนงานก็เป็นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ บนโลก พวกเขาถูกทำให้เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว ควรปล่อยให้เป็นเช่นนั้น และถ้ามีอะไรที่ออกนอกลู่นอกทางล่ะก็ นั่นเป็นเพราะว่า “มนุษย์มันเลวกันเอง” และทุกอย่างจะคลี่คลายไปด้วยดีในที่สุด ไม่ว่ากรณีใดๆ

คุณลองคิดดูว่ามันจริงหรือเปล่า ตอนที่คุณยังเด็ก และยังช่างซักช่างถาม คุณมักจะถูกบอกอยู่เสมอว่า “มันดีอยู่แล้ว” “มันต้องเป็นแบบนั้น” “พระเจ้าสร้างมาเช่นนั้น” และทุกสิ่งทุกอย่างโอเคดี

และคุณก็เชื่อตามที่พ่อกับแม่บอกคุณ เหมือนกับที่พวกเขาเชื่อพ่อกับแม่ของพวกเขา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงยังคิดเหมือนๆ กันกับปู่ของคุณ

หลังจากนั้น เมื่อคุณเข้าโรงเรียน คุณก็ถูกบอกแบบเดียวกัน คุณถูกสอนว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก และโลกที่พระเจ้าสร้างก็ดีงามอยู่แล้ว มันต้องมีทั้งคนรวยและคนจน คุณควรจะเคารพนับถือเหล่าคนรวย และหัดยอมรับโชคชะตาของตัวเองเสียบ้าง คุณถูกบอกว่าประเทศของคุณยืนอยู่ข้างความยุติธรรม และคุณก็ต้องเชื่อฟังกฎหมาย พวกคุณครู พวกนักบวช และพวกนักเทศน์ก็จะบอกว่าชีวิตของคุณถูกลิขิตโดยพระเจ้าและความประสงค์ของเขา และเมื่อคุณเห็นคนจนถูกลากเข้าคุก พวกเขาก็จะบอกคุณว่าคนเหล่านั้นชั่วร้าย เขาขโมยของ และนี่คืออาชญกรรมอันร้ายแรง

แต่ไม่ว่าจะที่บ้าน หรือที่โรงเรียน หรือที่ไหนๆ ก็ไม่มีทางที่คุณจะถูกบอกว่ามันคืออาชญกรรมของเหล่าคนรวยที่ขโมยผลผลิตที่เกิดจากกำลังแรงงานของคนอื่นไป หรือถูกบอกว่าพวกนายทุนนั้นร่ำรวยขึ้นมาได้ก็เพราะพวกเขาเอาความมั่งคั่งที่เหล่าแรงงานสร้างขึ้นมา มาเป็นของตัวเอง

ไม่มีทาง ไม่มีทางที่คุณจะถูกบอกแบบนั้น ไม่มีใครเคยได้ยินสิ่งเหล่านี้จากโรงเรียนหรือโบสถ์ แล้วคุณจะคาดหวังให้เหล่าคนงานได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร?

ในทางกลับกัน เมื่อคุณยังเป็นเด็ก จิตใจของคุณก็ถูกเติมเต็มไปด้วความคิดผิดๆ ซึ่งจะทำให้คุณจะประหลาดใจเหลือประมาณถ้าได้ยินความจริง

บางทีในตอนนี้คุณอาจจะเห็นแล้วว่า ทำไมเหล่าคนงานถึงไม่เข้าใจว่าความมั่งคั่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาถึงถูกขโมยไปจากพวกเขา และยังคงถูกขโมยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“แต่กฏหมาย” คุณถาม “รัฐบาลจะยอมให้เกิดการปล้นชิงเช่นนี้ได้อย่างไร? มันไม่ได้ถูกห้ามโดยกฏหมายหรอกหรือ?”

Berkman, Alexander. 2003. What is Anarchism (Working Class Series 1). Edinburgh: AK Press.

Share on:
Peam Pooyongyut Written by:

นักเขียน นักแปล และนักอ่าน สนใจการเมืองแบบไม่รวมศูนย์ วัฒนธรรมเสรี และอนาธิปไตย