Benjamin Zephaniah - ทำไมผมถึงเป็นนักอนาธิปไตย

Benjamin Zephaniah เป็นกวี นักเขียน และนักเคลื่อนไหวชาวจาไมก้า เขามีผลงานมากมายที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน การอ่านบทกวีของเขานั้นผสมดนตรี dub เข้าไปด้วย เนื่องจากได้อิทธิพลจากวัฒนธรรมบ้านเกิด

ข้อเขียนชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Dog Section ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นประเด็นการเมืองและวัฒนธรรม


ทำไมผมถึงเป็นนักอนาธิปไตย

ผมรับรู้ถึงความเป็นการเมืองหลังจากที่ต้องเจ็บปวดจากการถูกเหยียดผิวเป็นครั้งแรก ตอนนั้นผมอายุ 7 ขวบ ผมไม่เข้าใจทฤษฎีทางการเมืองใดๆ ผมแค่รู้ว่าตัวเองถูกกระทำอย่างเลวร้าย และรู้ว่ามันมีวิธีอื่นๆ ด้วย ไม่กี่ปีต่อมาตอนผมอายุ 15 ขณะที่กำลังเดินทอดน่องอยู่ในเบอร์มิงแฮมตอนเช้าตรู่ รถตำรวจขับมาจอดข้างๆ ผม พวกตำรวจลงมาจากรถและผลักผมอัดเข้ากับประตูร้านค้า พวกเขารุมสกรัมผม จากนั้นก็ขึ้นรถขับออกไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมไม่เคยอ่านอะไรที่เกี่ยวกับนโยบายรักษาความปลอดภัย หรืออะไรที่เรียกว่ากฎหมายและระเบียบ ผมรู้แค่ว่าตัวเองถูกกระทำอย่างเลวร้าย เมื่อผมได้งานครั้งแรกเป็นช่างทาสี ผมก็ไม่เคยอ่านอะไรเกี่ยวกับทฤษฎีการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน หรือวิธีการที่คนรวยกดขี่คนจน แต่ตอนที่เจ้านายของผมโผล่มาวันเว้นวันกับรถซูเปอร์คาร์คู่ใจของเขา แล้วเราก็กำลังเสี่ยงชีวิตอยู่บนบันได หายใจเอาสารพิษเข้าไป ผมก็รู้ว่าตัวเองถูกกระทำอย่างเลวร้าย

ผมเติบโตมา (เหมือนกับคนอื่นในละแวกเดียวกัน) ด้วยความเชื่อที่ว่า อนาธิปไตย คือการที่คนทุกคนบ้าคลั่ง และมันคือจุดจบของทุกสิ่งทุกอย่าง ผมมักมีปัญหาในการสะกดคำศัพท์ ก็เลยต้องใช้เครื่องช่วยสะกดหรือพจนานุกรมอยู่บ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผมเขียนคำศัพท์เหล่านั้นได้ถูกต้อง ผมได้ยินคำว่า สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์อยู่ตลอดเวลา แต่พวกนักสังคมนิยมกับพวกคอมมิวนิสต์ที่ผมเจอ ก็ยังไม่อยากจะยุ่งกับพวกอนาธิปไตย หรือไม่ก็ผลักให้ไปอยู่ชายขอบซะ ให้กลายเป็นคนที่คอยเอาไว้กล่าวโทษถ้าเกิดปัญหาในการประท้วง หรือบอกว่าเป็นแค่พวกฝันเฟื่อง แม้แต่ในตอนนี้ ผมเพิ่งตรวจดูเครื่องสะกดคำ มันอธิบายว่าอนาธิปไตยคือความวุ่นวาย ความโกลาหล ภาวะไร้กฎหมาย ไร้ระเบียบ ผมเป็นคนที่ชอบสิ่งที่ไร้ระเบียบนะ แต่สำหรับคน ‘ทั่วไป’ ความไร้ระเบียบก็คือความวุ่นวาย ความโกลาหล และภาวะไร้กฎหมายนั่นแหละ พวกเขาถูกบอกอยู่เสมอให้เกรงกลัวสิ่งเหล่านี้

สิ่งยอดเยี่ยมที่สุดที่ผมเคยทำต่อตัวเองก็คือเรียนรู้วิธีในการคิดต่อตัวตนของผมเอง ผมเริ่มทำมันตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ก็ช่างยากลำบากเหลือเกินที่จะทำแบบนั้น ในเมื่อคนรอบข้างยังบอกคุณอยู่เสมอว่าคุณควรคิดอย่างไร ทุนนิยมคือสิ่งที่คอยล่อลวงคุณ มันจำกัดจินตนาการ และบอกคุณว่าควรที่จะรู้สึกถึงความเป็นอิสระ เพราะว่าคุณมีทางเลือกมากมาย แต่ทางเลือกของคุณก็ถูกจำกัดด้วยสิ่งที่คนอื่นๆ ยัดเข้าไปในหัวของคุณ หรือไม่มันก็ถูกจำกัดจากจินตนาการอันจำกัดของคุณเอง ผมจำตอนที่ไปเที่ยว เซา เพาโล เมื่อหลายปีก่อนได้ ตอนนั้นมันเพิ่งประกาศ กฎหมายเมืองสะอาด1 พอดิบพอดี กฎหมายนี้ไม่ได้ทำให้นายกเทศมนตรีกลายเป็นนักอนาธิปไตยไปในทันทีหรอก แต่เขาก็ตระหนักได้ว่าประชาชนของเขาถูกทำให้กลายเป็นทาสการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง และทุกหนแห่ง จนพวกเขาหลงลืมตัวเองไปกันหมด ดังนั้นป้ายโฆษณาจำนวนมากกว่า 15,000 ป้ายจึงถูกปลดออกจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาบนรถบัส แท็กซี่ ป้ายนีออน และป้ายโฆษณาแบบกระดาษล้วนถูกห้ามโดยสิ้นเชิง ตอนแรกมันก็ดูแปลกนิดหน่อย แต่แทนที่จะต้องเดินไปตามทางแล้วมองเห็นพวกมัน หรือพยายามจะไม่มองก็แล้วแต่ ผมก็เดินได้อย่างสบายใจแล้วมองไปรอบตัวๆ แทน จากสิ่งนี้ทำให้พบว่าผมซื้อของที่ผมต้องการจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่สินค้าที่มีคนมาบอกว่าผมต้องซื้อ และสิ่งที่สังเกตพบได้ง่ายที่สุดก็คือ ผมพบเจอและพูดคุยกับผู้คนหน้าใหม่ๆ แทบทุกวัน บทสนทนามักจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับการเมืองและมีความหมายลึกซึ้ง ทุนนิยมทำให้เราแข่งขันกันเอง และคนที่คอยรักษาระบบทุนนิยมเอาไว้ก็ไม่อยากให้เราพูดคุยกันด้วยวิธีที่มีความหมาย

ผมจะไม่พูดถึงทุนนิยม สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์อีก แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้มีร่วมกันก็คือความต้องการอำนาจ และเพื่อที่จะได้ซึ่งอำนาจมาพวกเขาก็ต้องสร้างทฤษฎี เป็นทฤษฎีที่จะทำให้พวกเขาได้มาซึ่งอำนาจ และทำในสิ่งที่พวกเขาอยากทำเมื่อได้อำนาจมาอยู่ในมือ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีปัญหา ผมกลายเป็นนักอนาธิปไตยก็ตอนที่ผมตัดสินใจละทิ้งทฤษฎีและหยุดไขว่คว้าหาอำนาจ เมื่อผมหยุดคิดเรื่องเหล่านั้นแล้ว ก็รู้สึกได้ว่าความเป็นอนาธิปัตย์ที่แท้จริงคือธรรมชาติของผม มันเป็นธรรมชาติของเรา มันคือสิ่งที่เราทำก่อนที่พวกทฤษฎีเหล่านั้นจะปรากฏขึ้นมา มันคือสิ่งที่เราทำก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้ต้องแข่งขันกับคนอื่นๆ มีงานเขียนเกี่ยวกับอนาธิปไตยที่เยี่ยมยอดอยู่บ้าง และผมก็คิดว่ามันคือทฤษฎีอนาธิปไตยนั่นแหละ แต่พอผมเอาหนังสือเหล่านั้นให้เพื่อนๆ อ่าน (ผมกำลังพูดถึงหนังสือเล่มโต และใช้คำโตๆ) พวกเขาก็ปวดหัวแล้วเบือนหน้าหนี ผมจึงเลือกที่จะนั่งคุยกับพวกเขา ให้เขาระลึกย้อนกลับไปว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อตนเองได้บ้าง ผมยกตัวอย่างผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากรัฐบาล ผู้คนที่มีอำนาจในการจัดการตนเอง ผู้คนที่เอาจิตวิญญาณในความเป็นตัวตนของพวกเขากลับมา และทั้งหมดนั้นก็สมเหตุสมผลอยู่ทีเดียว

ถ้าเรามัวแต่พูดถึงทฤษฎี เราก็จะคุยได้กับคนที่สนใจทฤษฎีอยู่แล้ว หรือไม่ก็คนที่มีทฤษฎีเป็นของตัวเอง ถ้าเรายังพูดถึงแต่ทฤษฎี ก็หมายความว่าเรากีดกันคนอื่นออกไปมากมาย คนที่เราอยากจะเข้าถึงคือคนที่อยากจะหลุดออกไปจากบ่วงโซ่ความเป็นทาสของระบบทุนนิยม เรื่องราวของ คาร์น รอส (Carne Ross) ก็น่าประทับใจ ไม่ใช่เพราะว่าเขาเขียนหนังสือ แต่เป็นเพราะเขาเป็นอย่างที่เขาเชื่อจริงๆ ผมชอบอ่านงานของ นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) แล้วผมก็ชอบวิธีที่คุณยายของ สจ๊วต คริสตี้ (Stuart Christie) ทำให้เขากลายมาเป็นนักอนาธิปไตย 2 แต่ผมเป็นนักอนาธิปไตยเพราะผมเข้าใจว่าพวกตำรวจเหยียดผิวนั้นมีรัฐบาลคอยหนุนหลัง และรัฐโดยตัวมันเองก็เป็นพวกเหยียดผิว ผมเป็นนักอนาธิปไตยก็เพราะผมเข้าใจว่าเจ้านายที่คอยกดขี่ผมเพื่อให้ตัวเองรวยขึ้นๆ นั้นไม่ได้ใส่ใจใยดีผมเลยแม้แต่น้อย ผมเป็นนักอนาธิปไตยก็เพราะผมรู้ว่าพวกมารูน (Maroon)3นั้นปลดปล่อยตนเองจากการเป็นทาสได้อย่างไร พวกเขาพิสูจน์ให้ทาสทุกคนเห็นว่า เราสามารถจัดการและปกครองตัวเราเองได้ อย่าเข้าใจผมผิดล่ะ ผมชอบหนังสือ (ก็ผมเป็นนักเขียนนี่นา) และเราก็ต้องการคนที่คิดได้อย่างลึกซึ้ง — เราทุกคนควรคิดอย่างลึกซึ้ง แต่แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมนั้นมาจากผู้คนที่ผมพบเจอในชีวิตประจำวัน เหล่าผู้คนที่หยุดแสวงหาอำนาจเพื่อตัวเอง ผู้คนที่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ผมเจอคนมากมายที่ใช้ชีวิตในแบบอนาธิปไตย ทั้งในอินเดีย เคนย่า จาไมก้า เอธิโอเปีย และปาปัว แต่เมื่อผมบอกกับพวกเขาว่าคุณเป็นนักอนาธิปไตย เกือบทุกคนจะตอบกลับมาว่าไม่เคยได้ยินหรือรู้จักคำนี้มาก่อน สิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นเรื่องปกติและไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย ส่วนผมเป็นนักอนาธิปไตยเพราะว่าถูกกระทำอย่างเลวร้าย และเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้มเหลว

ผมใช้ชีวิตในช่วงปลายทศวรรษ 70s ถึง 80s ในกรุงลอนดอนอยู่กับนักกิจกรรมกลุ่มสภาแอฟริกันแห่งชาติ (ANC หรือ African National Congress)4 ที่ถูกเนรเทศออกจากบ้านเกิด — หลังจากการต่อสู้อันยาวนาน เนลสัน เมนเดลา ก็ได้รับอิสรภาพ และเหล่าผู้ถูกเนรเทศก็ได้กลับสู่บ้านของพวกเขา ผมยังจำตอนที่มองดูรูปภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลุ่มแรกของแอฟริกาใต้ และตระหนักได้ว่าผมรู้จักคนในรูปเป็นจำนวนถึง 2 ใน 3 ผมยังจำตอนที่มองดูรูปคณะรัฐบาลของแบลร์ (Tony Blair จาก New Labour) ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาหมาดๆ และตระหนักได้ว่าผมรู้จักคนในนั้นอยู่จำนวนหนึ่งเช่นกัน และผมก็ยังจดจำได้ดีว่าการที่ความหวังถูกเติมเต็มนั้นเป็นเช่นไร แต่ทั้งสองกรณีก็ใช้เวลาไม่นานที่จะเห็นว่าอำนาจทำให้พวกเขาตกต่ำลงได้อย่างไร ผมจะถามคนเหล่านี้ว่า “เฮ้ พวกนายกำลังทำอะไรกันอยู่?” และคำตอบที่ได้รับก็คงไม่หลุดไปจากประโยคที่ว่า “เบนจามิน นายไม่เข้าใจหรอกว่าการมีอำนาจมันเป็นยังไง” ก็จริงว่ะ แต่ช่างหัวอำนาจแม่งสิวะ เราแค่ดูแลกันและกันก็พอ

คนส่วนใหญ่รู้ว่าการเมืองกำลังล้มเหลว สำหรับผมมันไม่ใช่ทฤษฎี เพราะพวกเขาเห็นมันกับตา และรู้สึกมันด้วยใจ ปัญหาก็คือพวกเขาจินตนาการถึงทางเลือกอื่นไม่ได้ พวกเขาขาดความมั่นใจ สิ่งที่ผมทำคือปิดทีวี นั่งลงแล้วคิดเกี่ยวกับตัวเอง จากนั้นผมจึงเริ่มต้นไปพบปะผู้คน — และเชื่อผมเถอะว่า ไม่มีอะไรยอดเยี่ยมเท่ากับการได้พบกับผู้คนที่กำลังดำเนินชีวิต ทำสวน ไปโรงเรียน เปิดร้านค้า อยู่ในชุมชนทุกคนปราศจากการใช้อำนาจ

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเป็นนักอนาธิปไตย

ผู้เขียน: Benjamin Zephaniah
ผู้แปล: Peam Pooyongyut
ต้นฉบับ


  1. กฎหมายเมืองสะอาด (Clean City Law) คือกฎหมายของเมือง เซา เพาโล ประเทศบราซิลที่ประกาศใช้ในปี 2006 โดยทำการปลดป้ายบิลบอร์ดโฆษณาจำนวน 15,000 ป้าย และป้ายโฆษณาอื่นๆ อีกเกือบ 300,000 ป้ายออกทั้งหมด รวมทั้งไม่อนุญาตให้มีการขึ้นป้ายโฆษณาใหม่ด้วย แม้กฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดข้อถกเถียงว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็คือการเปิดเผยให้เห็นถึงความสวยงามของสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมที่ถูกบดบังจากป้ายโฆษณามาเป็นเวลาหลายปี [return]
  2. สจ๊วต คริสตี้ เป็นนักอนาธิปไตยที่โด่งดังที่สุดในเกาะอังกฤษ เพราะเขาลอบวางระเบิดเพื่อสังหารนายพลฟรังโก้ของสเปน ในขณะที่มีอายุเพียง 18 ปี แน่นอนว่าแผนการของเขาไม่สำเร็จ เพราะถูกจับได้ก่อนลงมือ เขาเกือบถูกประหารชีวิต แต่ก็รอดมาได้ด้วยการติดคุกนานถึง 20 ปี หนังสือ ‘คุณยายทำให้ผมเป็นนักอนาธิปไตย’ (Granny Made Me an Anarchist) ของเขาเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่รวบรวมเอาความทรงจำ ความคิดและการต่อสู้ทางการเมืองเอาไว้ โดยที่มาของชื่อหนังสือก็คือ เขาได้รับอิทธิพลทางด้านการเมืองมาจากยายตั้งแต่ยังเด็ก เปรียบเธอว่าเป็น “ดวงดาวที่ผมเลือกเดินตาม” [return]
  3. มารูน หรือมาร์รอน (Maroon) เป็นกลุ่มบรรพบุรุษของชาวแอฟริกันในประเทศสหรัฐอเมริกา บางส่วนมีต้นกำเนิดมาจากจาไมก้า ซึ่งถูกกลุ่มนักล่าอาณาณิคมจับไปเป็นทาส จนในที่สุดพวกเขาก็สามารถปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระ บางส่วนกลับมายังจาไมก้าเพื่อตั้งถิ่นฐานและชุมชน บางส่วนตั้งรกรากปกครองตนเองอยู่ในอเมริกา สืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้ [return]
  4. ANC เป็นพรรคการเมืองของแอฟริกาใต้ พวกเขาขึ้นมามีอำนาจและชนะเลือกตั้งมาตลอดนับตั้งแต่ความสำเร็จในการต่อสู้ของ เนลสัน เมนเดลา [return]
Share on:
Peam Pooyongyut Written by:

นักเขียน นักแปล และนักอ่าน สนใจการเมืองแบบไม่รวมศูนย์ วัฒนธรรมเสรี และอนาธิปไตย